APEC2022

“จุรินทร์” ดันส่งออกกล้วย ไปญี่ปุ่นอีก 5,000 ตัน

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ แถลงภายหลังการหารือทวิภาคีกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเศรษฐกิจการค้าและอุตสาหกรรมของญี่ปุ่น หรือ MITI ที่ ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิต์ ว่า ประเด็นที่ญี่ปุ่นหยิบยกมาหารือ มี 3 ประเด็น

ประเด็นแรกเป็นโครงการญี่ปุ่นจัดขึ้นเพื่อฉลองความสัมพันธ์นี้ครบรอบ 50 ปีระหว่างญี่ปุ่นกับอาซียน มีนโยบายที่เรียกว่า Co-create Vision จับมือกับอาเซียนสร้างเครือข่ายทั้งภาคเอกชนและภาครัฐ โดยแบ่งเป็น 3 ส่วน

1. การสร้างเครือข่าย 100 เครือข่ายระหว่างเอกชนญี่ปุ่นกับเอกชนของอาเซียนจับคู่กัน เช่น ร่วมลงทุนซื้อขายสินค้าบริการด้วยกันหรือจับคู่ทางธุรกิจอื่นเป็นต้น
2. การจับคู่ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับซัพพลายเชน การทำงานด้านการผลิตสินค้าและบริการร่วมกัน โดยใช้ซัพพลายเชน วัตถุดิบ การแปรรูประหว่างกันทั้งญี่ปุ่นทั้งอาเซียนให้ได้ 100 เคส
3. โครงการการร่วมกันระหว่างญี่ปุ่นกับอาเซียนแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม 100 เคส เช่น BCG หรือ Green Economy ซึ่งตนตอบรับด้วยความยินดี โดยทางญี่ปุ่นแจ้งให้ทราบว่าเตรียมงบประมาณ 8,000 ล้านเยน หรือ ประมาณ 2,100 ล้านบาท

ประเด็นที่สอง ญี่ปุ่นหยิบยกกรณี RCEP ซึ่งปัจจุบันมีสมาชิก 15 ประเทศ จับมือสร้างความเข้มแข็งให้กับ RCEP ซึ่งตอนที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพตนมีส่วนสำคัญในการเป็นประธานรัฐมนตรีเศรษฐกิจ RCEP จนนำไปสู่ข้อสรุป นำไปสู่การให้สัตยาบันแล้ว เริ่มต้นได้ในวันนี้ พร้อมตอบรับญี่ปุ่นในการขับเคลื่อน RCEP ให้มีความเข้มแข็งต่อไป เพราะถือว่าเป็น FTA ที่ใหญ่ที่สุดในโลกในปัจจุบัน

ประเด็นที่สาม กรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจอินโด-แปซิฟิกหรือ IPEF (Indo-Pacific Economic Framework) ปัจจุบันสมาชิกมี 14 ประเทศ ขอให้ช่วยกันขับเคลื่อนให้มีการเดินหน้าต่อไป ซึ่งตนตอบรับเพราะร่วมในการเริ่มต้นก่อตั้งกรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจอินโด-แปซิฟิก ตอนประกาศจัดตั้งที่โตเกียวเมื่อเดือนพฤษภาคมปีนี้

ขณะที่ไทย ได้หยิบยกมาหารือ 2 ประเด็นประเด็นที่หนึ่ง คือความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจไทย-ญี่ปุ่น ที่เรียกว่า JTEPA ที่ญี่ปุ่นให้โควตาส่งออกกล้วยของไทยไปญี่ปุ่นปีละ 8,000 ตัน ที่ผ่านมาเราใช้ประโยชน์ได้แค่ 3,000 ตัน ยังขาดอยู่อีก 5,000 ตัน ที่ยังใช้โควตานี้ไม่หมดเพราะเกิดปัญหาอุปสรรค ของภาคการผลิตให้เป็นไปตามมาตรฐานข้อกำหนดค่อนข้างซับซ้อน

โดยได้ขอความร่วมมือทาง MITI ช่วยบริหารจัดการให้ JETRO เข้ามามีบทบาทให้ข้อมูลให้ความรู้ทั้งกฎเกณฑ์กติกาวิชาการและแอพพลิเคชั่นต่างๆให้เกษตรกรของไทยด้วย ทำให้เกษตรกรได้ใช้โควตาให้ครบอีก 5,000 ตันต่อไป สร้างรายได้ให้ประเทศและรายได้ให้เกษตรกรผู้ปลูกกล้วยของไทยต่อไป และประเด็นที่สองคือขอให้สนับสนุนให้ภูเก็ตเป็นเจ้าภาพจัด Specialized Expo 2028 ด้วย ซึ่งญี่ปุ่นรับไปพิจารณาแล้ว

APEC 2022 นายกฯ ชี้รัฐ-เอกชน เป็นหัวใจสำคัญการเติบโต

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กล่าวปาฐกถาในพิธีเปิดการประชุม APEC CEO Summit ตามคำเชิญของสภาที่ปรึกษาทางธุรกิจเอเปค (APEC Business Advisory Council: ABAC) โดยภายหลังเสร็จสิ้นพิธี นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยสาระสำคัญ ดังนี้

APEC CEO Summit เป็นหนึ่งในการรวมตัวของภาคธุรกิจที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในภูมิภาค และเป็นการกลับมาอีกครั้งของการประชุมในรูปแบบพบหน้า ถือเป็นการส่งสัญญาณบวกให้แก่ภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก สะท้อนให้เห็นว่า ภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกพร้อมเดินหน้าทำธุรกิจอย่างเต็มที่อีกครั้ง ซึ่งเป็นโอกาสให้ฟื้นฟูความเชื่อมโยง รื้อฟื้นความสัมพันธ์ และสาน

ต่อความร่วมมือระหว่างกัน สำหรับประเด็นสำคัญของเอเปคปีนี้ ซึ่งอยู่บนแนวคิดเศรษฐกิจ BCG ที่ไทยนำมาเป็นแผนแม่บทสำหรับการพัฒนาและการเติบโต ใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ ๆ เพื่อสร้างคุณค่า เพิ่มประสิทธิภาพในการใช้ทรัพยากรให้คุ้มค่า และส่งเสริมความยั่งยืนของสิ่งแวดล้อม

ทั้งนี้ ไทยยังตระหนักว่าความท้าทายที่ประสบอยู่เป็นเรื่องที่เชื่อมโยงและคาบเกี่ยวกัน ดังนั้น นายกรัฐมนตรีได้เสนอแนวทางความร่วมมือระหว่างภาครัฐและภาคธุรกิจ ดังนี้

ประเด็นแรก การส่งเสริมความยั่งยืน นายกรัฐมนตรีกล่าวถึงความท้าทายทางสิ่งแวดล้อมที่มีความรุนแรงมากขึ้น รวมทั้งการเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิโลกและสภาพภูมิอากาศที่ล้วนส่งผลกระทบต่อความเป็นอยู่ จึงจำเป็นต้องร่วมมือกันเพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืน โดยไทยได้กำหนดให้ความยั่งยืนเป็นวาระสำคัญสูงสุดของเอเปคในปีนี้ และมุ่งมั่นที่จะนำ

เศรษฐกิจ BCG มาขับเคลื่อนการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่ยืดหยุ่นในระยะยาว ควบคู่ไปกับการส่งเสริมความยั่งยืนทางสิ่งแวดล้อมอย่างครอบคลุม พร้อมทั้งหาหนทางที่เหมาะสมให้ธุรกิจยังสามารถมีผลกำไร นายกรัฐมนตรีเชื่อมั่นว่า ทุกคนสามารถร่วมมือกันได้เพื่อปกป้องสิ่งแวดล้อมและพัฒนาการดำเนินธุรกิจที่ยั่งยืนมากขึ้น ความร่วมมือที่เข้มแข็ง

และความมุ่งมั่นจากทุกภาคส่วน ทั้งนี้ ไทยกำลังสร้างสภาพแวดล้อมทางธุรกิจที่เอื้ออำนวยแก่ภาคเอกชน เพื่อส่งเสริมการลดของเสีย และการปล่อยก๊าซมลพิษ การค้าและการลงทุนที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม นวัตกรรมที่สนับสนุนการเปลี่ยนผ่านไปสู่เศรษฐกิจคาร์บอนต่ำ และพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ไปพร้อมกัน นอกจากนี้ ไทยกำลังเปลี่ยนผ่านไปสู่

พลังงานสะอาดเพื่อบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน ภายในปี ค.ศ. 2050 และบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ภายในปี ค.ศ. 2065 และกำลังเร่งพัฒนาระบบนิเวศเปลี่ยนผ่านไปสู่อุตสาหกรรมยานยนต์พลังงานไฟฟ้า ซึ่งไทยหวังว่าจะได้ร่วมมือกับทุกฝ่ายต่อไป

ประเด็นที่สอง การเจริญเติบโตที่ครอบคลุม ทุกฝ่ายสามารถร่วมมือกันและต้องมั่นใจว่าจะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลังในเส้นทางการพัฒนา ซึ่งสอดคล้องกับแนวคิดเศรษฐกิจ BCG ที่ผลักดันให้มองไกลไปกว่าการสร้างผลกำไร และหันมาให้ความสำคัญกับการทำธุรกิจที่สมดุล ครอบคลุม และยั่งยืน เป็นประโยชน์ต่อทุกระดับในภูมิภาค โดยเอเปคผลักดันให้มี

การปฏิรูปทางโครงสร้างและมาตรการที่จำเป็น และขจัดอุปสรรคของการทำธุรกิจ ทั้งการปฏิรูปกฎระเบียบภายใน การส่งเสริมบรรยากาศของการดำเนินธุรกิจและการลงทุน การช่วยเหลือ MSMEs การดำเนินธุรกิจอย่างมีความรับผิดชอบ และเอื้อต่อการเข้าถึงแหล่งเงินทุน เทคโนโลยีดิจิทัล และปัจจัยสนับสนุนอื่น ๆ

ประเด็นที่สาม การมุ่งไปสู่ดิจิทัล นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า เศรษฐกิจดิจิทัลเป็นมิติใหม่ของการสร้างอาชีพ และการเจริญเติบโตในภูมิภาค เอเปคจึงเน้นให้การมุ่งไปสู่ดิจิทัลเป็นหนึ่งในประเด็นสำคัญในปีนี้ เพราะจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพสร้างโอกาสสำหรับธุรกิจทั้งในและนอกภูมิภาค โดยร่วมมือกันเพื่อใช้ประโยชน์จากศักยภาพของการเปลี่ยนผ่านไปสู่ดิจิทัล ซึ่งจะเป็นตัวเร่งทางเศรษฐกิจที่สำคัญท่ามกลางการฟื้นตัวจากผลกระทบของโรคระบาด และส่งผลต่อการพัฒนาของภูมิภาคในระยะยาว