แท็กซี่

คมนาคม ไฟเขียวขึ้นค่าแท็กซี่ เริ่มต้น 40 บาท รถติดนาทีละ 3 บาท

ขึ้นค่าโดยสารแท็กซี่ขนาดใหญ่

นายวิรัช พิมพะนิตย์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม พร้อมด้วย นายจิรุตม์ วิศาลจิตร อธิบดีกรมการขนส่งทางบก ได้ประชุมหารรือร่วมกับผู้แทน 4 สมาคมแท็กซี่ เกี่ยวกับการขอปรับขึ้นค่าโดยสารรถแท็กซี่มิเตอร์ให้สอดคล้องกับต้นทุน และค่าครองชีพในปัจจุบัน โดยที่ประชุมมีมติเห็นชอบแนวทางการปรับขึ้นค่าแท็กซี่ตามที่กรมการขนส่งทางบก และสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) เสนอเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของทุกฝ่าย

ระยะทาง 1 กิโลเมตรแรก

  • รถเล็ก (เครื่องยนต์ 1,600-1,800 ซีซี) ราคา 35 บาท
  • รถใหญ่ (เครื่องยนต์ 2,000 ซีซี) 40 บาท

ระยะทาง 2-10 กิโลเมตร

  • รถเล็ก / รถใหญ่ กิโลเมตรละ 6.5 บาท

ระยะทาง 11-20 กิโลเมตร

  • รถเล็ก / รถใหญ่ กิโลเมตรละ 7 บาท

ระยะทาง 21-40 กิโลเมตร

  • รถเล็ก / รถใหญ่ กิโลเมตรละ 8 บาท

ระยะทางเกินกว่า 41-60 กิโลเมตร

  • รถเล็ก / รถใหญ่ กิโลเมตรละ 8.5 บาท

ระยะทาง 61-80 กิโลเมตร

  • รถเล็ก / รถใหญ่ กิโลเมตรละ 9 บาท

ระยะทาง 81 กิโลเมตรขึ้นไป

  • รถเล็ก / รถใหญ่ กิโลเมตรละ 10.5 บาท

ค่ารถติด กรณีรถเคลื่อนที่ได้ช้ากว่า 6 กิโลเมตรต่อชั่วโมง

  • รถเล็ก / รถใหญ่ 3 บาทต่อนาที

ลดภาษีประจำปี แท็กซี่,สามล้อ,วินมอเตอร์ไซค์ มีผลบังคับใช้ทันที

ลดภาษีประจำปี แท็กซี่,สามล้อ,วินมอเตอร์ไซค์

น.ส.ทิพานัน ศิริชนะ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ขณะนี้พระราชกฤษฎีกาลดภาษีประจำปี สำหรับรถยนต์รับจ้างและรถจักรยานยนต์สาธารณะ พ.ศ. 2565 มีผลบังคับใช้แล้ววันนี้ (9 พฤศจิกายน2565) โดยมีสาระสำคัญเป็นการกำหนดให้ลดภาษีประจำปีสำหรับรถยนต์รับจ้างและรถจักรยานยนต์สาธารณะ

ที่ครบกำหนดเสียภาษีประจำปีในระหว่างวันที่ 1 ตุลาคม 2565 ถึงวันที่ 30 กันยายน 2566 ลงร้อยละ 90 ของอัตราภาษีประจำปีท้ายพระราชบัญญัติรถยนต์ พ.ศ. 2522 เพื่อช่วยลดต้นทุนการประกอบการรถสาธารณะทั้งรถยนต์รับจ้าง หรือแท็กซี่ รถยนต์รับจ้างสามล้อ และรถจักรยานยนต์สาธารณะ หรือวินมอเตอร์ไซค์

น.ส.ทิพานัน กล่าวว่า เป็นข่าวดีสำหรับพี่น้องประชาชน ที่รัฐบาลภายใต้การนำของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่ต้องการให้ความช่วยเหลือบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายจากปัญหาการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19ประกอบกับราคาน้ำมันเชื้อเพลิงและก๊าซธรรมชาติโลกปรับตัวสูงขึ้น

ส่งผลให้ต้นทุนในการประกอบการของรถสาธารณะเพิ่มสูงขึ้นและส่งผลกระทบต่อรายได้ของผู้ประกอบอาชีพ ไม่เพียงพอต่อการดำรงชีวิต ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อผู้ใช้บริการรถสาธารณะได้ สำหรับอัตราการจัดเก็บภาษีที่ปรับลดลง ตัวอย่างมีดังนี้

  • 1. รถแท็กซี่ น้ำหนักรถ 1,300 กก. เดิมจัดเก็บภาษี 685 บาท ลดเหลือ 68.50 บาทต่อคัน
  • 2. รถแท็กซี่ น้ำหนักรถ 2,000 กก. เดิมจัดเก็บภาษี 1,060 บาท ลดเหลือ 106 บาทต่อคัน
  • 3. รถยนต์สามล้อรับจ้าง เดิมจัดเก็บภาษี 185 บาท ลดเหลือ 18.5 บาทต่อคัน
  • 4. รถจักรยานยนต์สาธารณะ เดิมจัดเก็บภาษี 100 บาท ลดเหลือ 10 บาทต่อคัน

“รัฐบาลมุ่งแก้ไขปัญหาเพื่อช่วยเหลือประชาชนทุกกลุ่ม ด้วยการช่วยลดต้นทุนการประกอบอาชีพให้ต่ำที่สุด เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิต และลดปัญหาหนี้สิน เพื่อให้คนไทยพ้นจากความยากจนให้มากที่สุด” น.ส.ทิพานัน กล่าว