สำหรับข้อเสนอของคณะอนุกรรมการที่จะนำเสนอเข้าสู่ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายโครงการเติมเงินดิจิทัลชุดใหญ่ ในวันนี้ 10 พ.ย. 66 ทางเว็บไซต์ สำนักข่าวไทย รายงานว่า นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการนโยบายโครงการเติมเงินดิจิทัล 10,000 บาท ผ่านดิจิทัลวอลเล็ต ในวันศุกร์ที่ 10 พ.ย. นี้ คณะอนุกรรมการจะเสนอแนวทาง และรายละเอียดต่างๆ ต่อนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง พิจารณา และจะมีการแถลงให้ประชาชนทราบอย่างชัดเจน ส่วนข้อเสนอนั้นจะมีทั้งกลุ่มเป้าหมายไว้ 3 ทางเลือก ที่จะเสนอให้คณะกรรมการชุดใหญ่พิจารณา ได้แก่
เงื่อนไขการแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท
- กลุ่มผู้มีเงินเดือนมากกว่า 25,000 บาท หรือมีเงินฝากมากกว่า 100,000 บาท ถูกตัดสิทธิ์ ทำให้ผู้ได้รับสิทธิ์ประมาณ 43 ล้านคน ใช้งบประมาณ 4.3 แสนล้านบาท
- กลุ่มรายได้มากกว่า 50,000 บาทต่อเดือน หรือมีเงินฝากมากกว่า 5 แสนบาท ถูกตัดสิทธิ์ ทำให้ผู้รับโอนเงินดิจิทัลเหลือ 49 ล้านคน ใช้งบประมาณ 4.9 แสนล้านบาท
- กลุ่มผู้ยากไร้ ถือบัตรสวัสดิการในปัจจุบัน มีจำนวน 15-16 ล้านคน
โดยคณะกรรมการชุดใหญ่ ต้องเลือกดูว่าการโอนเงินให้แต่ละกลุ่มจะส่งผลต่อการสร้างเงินหมุนเวียน และกระตุ้นเศรษฐกิจได้มากน้อยเพียงใด
ส่วนเรื่องการใช้ระบบบล็อกเชน รองรับการใช้จ่าย และจัดทำให้เป็นซูเปอร์แอปฯ ที่สามารถรองรับข้อมูลสวัสดิการภาครัฐครอบคลุมในทุกด้าน จะต้องเป็นระบบที่สามารถป้องกันการแฮปข้อมูล มีความปลอดภัยสูง จัดเก็บข้อมูลด้วย Big Data รัฐบาลจึงมอบหมายให้ ธนาคารกรุงไทย จัดทำระบบซูเปอร์แอปฯ เหมือนกับแอปเป๋าตัง แต่มีข้อเสนอหลายฝ่ายให้กลับไปใช้แอปเป๋าตัง ข้อสรุปทุกด้านจึงรอให้คณะกรรมการชุดใหญ่ พิจารณาข้อเสนอในวันพรุ่งนี้
ส่วนรัศมีการใช้เงินดิจิทัลจากเดิมที่กำหนดไว้ 4 กิโลเมตร ขยายให้ครอบคลุมในระดับอำเภอ เพื่อให้ประชาชนใช้จ่ายได้ครอบคลุมพื้นที่มากขึ้น เพราะมีร้านค้าจำนวนมากกว่า มุ่งใช้ซื้อสินค้าอุปโภคบริโภค ร้านค้าต้องลงทะเบียนผู้เข้าร่วมโครงการ ต้องอยู่ในระบบภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา หรือภาษีนิติบุคคล ให้ได้รับสิทธิในการขึ้นเงินดิจิทัลเป็นเงินบาทในช่วงปลายทาง ส่วนร้านค้าขนาดเล็ก รับเงินดิจิทัลมาแล้วให้ซื้ออุปกรณ์ วัสดุ วัตถุดิบในการประกอบอาชีพ
สำหรับ แหล่งเงินรองรับโครงการดิจิทัลวอลเล็ต มุ่งเน้นการใช้งบประมาณ คาดการจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567 กว่าจะผ่านความเห็นชอบจากสภา ใช้เงินได้ในช่วงต้นเดือน พ.ค. 67 หากโครงการดิจิทัลวอลเล็ตขณะนี้ ต้องใช้งบประมาณ 4 แสนล้านบาท ต้องจัดทำให้เป็นงบผูกพันต่อเนื่อง เพื่อตั้งงบนำมาชดเชยคืนภายหลัง ปีละ 1 แสนล้านบาท