ธุรกิจส่งออก

พาณิชย์ เผยส่งออกไทยเดือนกันยายน โต 7.8% คาดทั้งปีโตเกิน 4%

ส่งออกไทย

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ระบุถึงการส่งออกของไทยในเดือน ก.ย. 65 มีมูลค่า 24,919.3 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือ 888,371 ล้านบาท ขยายตัว 7.8% เมื่อเทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน และเป็นการขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 19

ซึ่งปัจจัยที่ทำให้การส่งออกขยายตัวขึ้นมาจากการส่งออกรถยนต์ เครื่องคอมพิวเตอร์ และสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ที่ขยายตัวต่อเนื่อง เนื่องจากปัญหาขาดแคลนชิปผ่อนคลายมากขึ้น ขณะที่สินค้าในกลุ่มเกษตร อาหารสัตว์เลี้ยงโตเพิ่มขึ้น และกิจกรรมต่างๆ ผลักดันให้ภาคการส่งออกเติบโตขึ้น

ขณะที่การนำเข้ามีมูลค่า 25,772.5 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 15.6% ส่งผลให้ไทยขาดดุล 853.2 ล้านเหรียญสหรัฐ ส่วนภาพรวม 9 เดือนแรกของปี 2565 (เดือน ม.ค.-ก.ย.) การส่งออกมีมูลค่า 221,366.1 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 10.6% การนำเข้ามีมูลค่า 236,351 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 20.7% ส่งผลให้ไทยขาดดุล 14,984.9 ล้านเหรียญสหรัฐ

สำหรับสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร ขยายตัว 1.8% เมื่อเทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน ขยายตัวต่อเนื่อง 22 เดือน โดยสินค้าสำคัญที่ขยายตัวได้แก่ ไก่สด แช่เย็น แช่แข็ง และไก่แปรรูป ขยายตัว 82.9% ขยายตัวต่อเนื่อง 5 เดือน ขยายตัวในตลาดญี่ปุ่น สหราชอาณาจักร จีน เนเธอร์แลนด์ และเกาหลีใต้

อาหารทะเลกระป๋อง และแปรรูปขยายตัว 19.8% ขยายตัวต่อเนื่อง 8 เดือน ขยายตัวในตลาดสหรัฐ ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และแคนาดา ข้าว ขยายตัว 2.7% ขยายตัวต่อเนื่อง 8 เดือน ขยายตัวในตลาดอิรัก เบนิน แองโกลา แคเมอรูน และแคนาดา

ส่วนสินค้าสำคัญที่หดตัว ได้แก่ ยางพารา หดตัว 7.7% หดตัวต่อเนื่อง 2 เดือน หดตัวในตลาดจีน มาเลเซีย อินเดีย บราซิล และสเปน แต่ขยายตัวในตลาดสหรัฐ เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น ตุรกี และแคนาดา ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง หดตัว 5.6% หดตัวในตลาดจีน ญี่ปุ่น ไต้หวัน เกาหลีใต้ และออสเตรเลีย แต่ขยายตัวในตลาดอินโดนีเซีย มาเลเซีย สหรัฐ ฟิลิปปินส์ และสิงคโปร์ ทั้งนี้ 9 เดือนแรกของปี 2565 การส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร ขยายตัว 13.7% เมื่อเทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน

ส่วนการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม ขยายตัว 9.4% เมื่อเทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน ขยายตัวต่อเนื่อง 19 เดือน โดยสินค้าสำคัญที่ขยายตัวดี อาทิ เครื่องคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ ขยายตัว 18.3% ขยายตัวต่อเนื่อง 2 เดือน ขยายตัวในตลาดสหรัฐ จีน เนเธอร์แลนด์ สิงคโปร์ และไอร์แลนด์ รถยนต์ อุปกรณ์ และส่วนประกอบ ขยายตัว 8.4% ขยายตัวต่อเนื่อง 2 เดือน ขยายตัวในตลาดออสเตรเลีย ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย เวียดนาม และมาเลเซีย อัญมณีและเครื่องประดับ (ไม่รวมทองคำ) ขยายตัว 89.6% ขยายตัวต่อเนื่อง 19 เดือน ขยายตัว ในตลาดสิงคโปร์ สหรัฐ ฮ่องกง อินเดีย และเยอรมนี

ขณะที่สินค้าสำคัญที่หดตัว อาทิ สินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน หดตัว 10.4% หดตัวต่อเนื่อง 2 เดือน หดตัวในตลาดจีน อินเดีย ญี่ปุ่น กัมพูชา และมาเลเซีย แต่ขยายตัวในตลาดเวียดนาม สิงคโปร์ เมียนมา ลาว และแอฟริกาใต้ เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ หดตัว 14.0% หดตัวในตลาดสหรัฐ ญี่ปุ่น เวียดนาม จีน และเมียนมา แต่ขยายตัวในตลาดอินเดีย อินโดนีเซีย มาเลเซีย ออสเตรเลีย และไต้หวัน ทั้งนี้ 9 เดือนแรกของปี 2565 การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม ขยายตัว 9.0% เมื่อเทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน

ทั้งนี้ แนวโน้มการส่งออก กระทรวงพาณิชย์ ประเมินว่ายังคงมีสัญญาณบวกที่ช่วยสนับสนุนการส่งออกของไทยในปีนี้ให้สามารถบรรลุตามเป้าหมาย ทั้งปัญหาการขาดแคลนอุปทานที่เริ่มคลี่คลาย และปัจจัยสนับสนุนจากการอ่อนค่าของเงินบาท ทำให้การส่งออกไทยยังขยายตัวได้อย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม ยังมีความเสี่ยงของการชะลอตัวของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้า อันเกิดจากสถานการณ์เงินเฟ้อ และการเร่งขึ้นอัตราดอกเบี้ย ซึ่งกระทรวงพาณิชย์ยังต้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดต่อไป

ช่วยผลกระทบจากอุทกภัย EXIM BANK ออกมาตรการ “2 เพิ่ม 3 ช่วย”

EXIM BANK

นาย.รักษ์ วรกิจโภคาทร กรรมการผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK) ออกมาตรการช่วยเหลือลูกค้าที่ได้รับผลกระทบจากเหตุอุทกภัยในหลายจังหวัดตามภูมิภาคต่างๆ ภายใต้กรอบการดำเนินการช่วยเหลือ “2 เพิ่ม 3 ช่วย” โดยเพิ่มวงเงินกู้ซ่อมเครื่องจักรหรือโรงงานสูงสุด 2 ล้านบาท

เพิ่มวงเงินทุนหมุนเวียนชั่วคราวสูงสุด 20% ช่วยลดเงินต้นและดอกเบี้ย พร้อมช่วยคืนดอกเบี้ยจ่าย 2% ตามเงื่อนไขที่ธนาคารกำหนด รวมทั้งช่วยขยายระยะเวลาต่ออายุตั๋วสัญญา ให้ลูกค้าสามารถดำเนินธุรกิจส่งออกหรือธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับการส่งออกตลอดทั้ง Supply Chain ได้อย่างต่อเนื่อง

มาตรการ 2 เพิ่ม 3 ช่วย สำหรับลูกค้า EXIM BANK ประกอบด้วย

  • เพิ่มวงเงินหมุนเวียนชั่วคราว สูงสุด 20% ของวงเงินประเภทหมุนเวียนเดิม ไม่เกิน 2 ล้านบาท โดยอ้างอิงอัตราดอกเบี้ยเดิมของลูกค้า
  • เพิ่มวงเงินกู้ สูงสุด 2 ล้านบาท เพื่อซื้อหรือซ่อมแซมเครื่องจักรหรืออาคารโรงงานที่ได้รับความเสียหาย อัตราดอกเบี้ย Prime Rate ต่อปี ระยะเวลานาน 3 ปี ปลอดชำระเงินต้น (Grace Period) สูงสุด 3 เดือน
  • ช่วยลดการผ่อนชำระทั้งเงินต้นและดอกเบี้ยลง สูงสุด 50% เป็นระยะเวลาสูงสุด 1 ปี
  • ช่วยคืนเงิน 2% ของดอกเบี้ยจ่ายสะสมในระยะเวลาดังกล่าว โดยพิจารณาลูกค้าแต่ละรายตามหลักเกณฑ์ที่ธนาคารกำหนด กรณีลูกค้าสามารถปฏิบัติตามเงื่อนไขใหม่ได้
  • ช่วยขยายระยะเวลาต่ออายุตั๋วสัญญาใช้เงินเกินเทอมที่ธนาคารคารอนุมัติ สูงสุด 180 วัน
    ทั้งนี้ อัตราดอกเบี้ย Prime Rate ปัจจุบันเท่ากับ 5.75% ต่อปี