ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบแผนการกู้เงินวงเงินประมาณ 85,000 ล้านบาท เพื่อบริหารภาระค่าไฟฟ้าโดยอัตโนมัติ (Ft) ประจำปีงบประมาณ 2566 ส่วนมาตรการบรรเทาผลกระทบด้านพลังงานแก่ประชาชนในด้านค่าไฟฟ้าและราคาก๊าซหุงต้ม (LPG) กระทรวงพลังงานจะเสนอให้ที่ประชุม ครม. พิจารณาในสัปดาห์หน้า โดยจะสามารถออกมาตรการช่วยเหลือได้ทันในรอบบิลเดือนนี้
นายสุพัฒนพงษ์ กล่าวว่า พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี แสดงความเป็นห่วงในเรื่องของภาระค่าไฟฟ้าที่เพิ่มสูงขึ้น โดยจะบูรณาการทำงานทั้งจากกระทรวงพลังงาน การไฟฟ้า โดยจะเร่งรัดการส่งเสริม การติดตั้ง Solar Rooftop ให้เร็วขึ้น เพื่อเป็นทางเลือกหนึ่งเพื่อบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายในครัวเรือนสำหรับครัวเรือน
ที่มีศักยภาพในการติดตั้งได้ นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า การที่ ครม. อนุมัติให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) กู้เงินจำนวนไม่เกิน 85,000 ล้านบาทในครั้งนี้ สืบเนื่องจากคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ได้อนุมัติการปรับขึ้นค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ (Ft) และมอบหมายให้
กฟผ. ช่วยรับภาระค่า Ft ที่เพิ่มขึ้น โดยชะลอการนำค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจริง ตั้งแต่งวดเดือน ก.ย.-ธ.ค. 64 จนถึงงวดเดือน พ.ค.-ส.ค. 65 เป็นเงินรวมทั้งสิ้น 87,849 ล้านบาท ที่จะเรียกเก็บกับประชาชนในระยะนี้เลื่อนออกไปก่อน ส่งผลให้ กฟผ. ต้องรับภาระอัตราค่า Ft ทำให้สภาพคล่องทางการเงินลดลงอย่างต่อเนื่อง
โดยมีการประมาณการกระแสเงินสดของ กฟผ.ว่า จะขาดเงินสูงสุดในวันที่ 30 มี.ค. 66 จำนวนเงินประมาณ 74,000 ล้านบาท ดังนั้น จึงมีความจำเป็นที่จะต้องกู้เงินเพื่อเสริมสภาพคล่องทางการเงินเพิ่มเติม เพื่อบริหารภาระค่า Ft ตามนโยบายของรัฐบาล ซึ่งประกอบด้วย สัญญากู้ยืมเงิน (Term Loan) กู้เบิกเกินบัญชี ตั๋วสัญญาใช้เงิน
การทำ Trust Receipt (T/R) และการทำสัญญากู้เงินเมื่อทวงถาม (Call Loan) “การรับภาระค่า Ft ดังกล่าว จึงส่งผลกระทบต่อสภาพคล่องของ กฟผ. ในปี 65 ให้ลดลงอย่างต่อเนื่อง จึงเป็นเหตุผลที่ทำให้ กฟผ. จำเป็นต้องกู้เงินเพื่อมาใช้เสริมสภาพคล่องในปี 66 ในวงเงินไม่เกิน 85,000 ล้านบาท เพื่อเป็นการบรรเทาภาระในการบริหารค่า Ft ตามนโยบายของรัฐบาล” นายอนุชา กล่าว