Uncategorized

เงินดิจิทัล 10,000 บาท กลุ่มสมาร์ทโฟน หมดเขตลงทะเบียนแอปทางรัฐ 15 ก.ย. 67

เงินดิจิทัล

กระทรวงการคลัง เปิดกรอบเวลาการลงทะเบียนเงินดิจิทัล 10,000 บาท ดิจิทัลวอลเล็ต ผ่านแอปพลิเคชั่นทางรัฐ ตั้งแต่วันที่ 1 ส.ค.-15 ก.ย. 67 สอดคล้องกับสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) หรือ DGA โพสต์ข้อความระบุว่า สำหรับผู้ที่มีสมาร์ตโฟน ลงทะเบียน Digital Wallet บนแอปฯ ทางรัฐ ได้ถึงวันที่ 15 กันยายน 2567 เท่านั้น

คุณสมบัติของผู้ที่มีสิทธิได้รับเงินดิจิทัล 10,000 บาท

  • อายุ 16 ปีบริบูรณ์ ภายในวันที่ 30 ก.ย. 67 (ต่อให้เด็กมีอายุ 16 ปีขึ้นไป แต่มีเงินฝากเกิน 500,000 บาทขึ้นไป แม้จะเป็นเงินที่พ่อแม่ออมให้ลูกก็ตาม ก็ไม่มีสิทธิ์เข้าร่วมโครงการ เพราะเป็นผู้มีรายได้ อีกทั้งเกณฑ์เงินฝากในบัญชีระบุไว้ชัดเจนว่า หากเกิน 500,000 บาท ถูกตัดสิทธิ์)
  • เกณฑ์รายได้วัดจากฐานข้อมูลเงินได้ของกรมสรรพากร ณ ปี 2566 ซึ่งสิ้นสุดไปแล้วเมื่อ 31 ธ.ค. 66 กำหนดว่าจะต้องไม่เกิน 840,000 บาท หรือมีเงินเดือนไม่เกิน 70,000 บาท
  • เกณฑ์เงินฝากกำหนดไม่เกิน 500,000 บาท นับเฉพาะเงินฝากสกุลบาท รวมกันทุกบัญชี ทั้งในส่วนของธนาคารพาณิชย์ และธนาคารเฉพาะกิจของรัฐ เช่น
    • บัญชีเงินฝากประจำ
    • บัญชีเงินฝากออมทรัพย์
    • บัตรเงินฝาก
    • ใบรับเงินฝาก
    • เงินฝากกระแสรายวัน

ไม่นับรวมสลากออมทรัพย์สลากออมสิน หุ้น พันธบัตร โดยนับวันสิ้นสุด 31 มี.ค. 67

ขั้นตอนลงทะเบียนเงินดิจิทัล

  1. ดาวน์โหลดแอปฯ “ทางรัฐ”
    1. iOS : App Store 
    1. Android : Google Play
  2. เปิดแอปฯ ทางรัฐ แล้วกด “ลงทะเบียนรับสิทธิ
  3. อ่านเงื่อนไขและกด “ถัดไป” 
  4. กรอกข้อมูลส่วนบุคคลให้ถูกต้องแล้วกด “ตรวจสอบข้อมูล” และ “ดำเนินการต่อ
  5. อ่านข้อแนะนำ และ สแกนใบหน้า ระบบจะแสดงผลการรับข้อมูลการลงทะเบียนและตรวจสอบข้อมูลส่วนบุคคล
  6. เมื่อระบบตรวจสอบเสร็จ กด “สร้างบัญชีทางรัฐ” 
  7. ตั้งชื่อบัญชีผู้ใช้และรหัสผ่าน กด “ยืนยัน” ตั้งรหัส Pin Code 6 หลัก

สินเชื่อรายย่อย ดัน NPL พุ่งต่อ “หนี้เสียบ้าน” ลามกลุ่มรายได้สูงกว่า 3 หมื่น

สินเชื่อรายย่อย ดัน NPL พุ่งต่อ

ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยภาพรวมธนาคารพาณิชย์ไตรมาส 2/2567 พบว่า ระบบธนาคารพาณิชย์มีความมั่นคงและมีเสถียรภาพ โดยมีเงินกองทุน เงินสำรอง และสภาพคล่องอยู่ในระดับสูง โดยสินเชื่อระบบธนาคารพาณิชย์ (รวมเครือ) ไตรมาส 2 ปี 2567 ขยายตัวชะลอลงที่ 0.3% จากช่วงเดียวกันปีก่อน แบ่งเป็นสินเชื่อธุรกิจโดยรวมทรงตัวที่ระดับ 2% จากช่วงเดียวกันปีก่อน โดยหดตัวในอุตสาหกรรมยานยนต์ และอิเล็กทรอนิกส์


ขณะที่ สินเชื่อ SMEs หดตัวต่อเนื่องที่ 5.4% จากช่วงเดียวกันปีก่อน โดยหดตัวในอุตสาหกรรมพาณิชย์ ค้าส่งและค้าปลีก ยานยนต์และไฟฟ้า ด้านสินเชื่ออุปโภคบริโภค ขยายตัวชะลอลงตามความเสี่ยงด้านเครดิตที่ปรับสูงขึ้น โดยสินเชื่อที่อยู่อาศัย ชะลอลงที่ 0.8% โดยเฉพาะบ้านแนวราบ ราคาต่ำกว่า 5 ล้านบาท สินเชื่อส่วนบุคคลชะลอลงที่ 5.8%

ในขณะที่ สินเชื่อบัตรเครดิต หดตัวลง 0.2% เช่นเดียวกับสินเชื่อเช่าซื้อที่หดตัวหนัก 4.8% เนื่องจากคนชะลอการซื้อรถยนต์ ประกอบกับพฤติกรรมของคนที่เปลี่ยนไป โดยเฉพาะกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่ไม่นิยมซื้อรถยนต์


ทั้งนี้ ยอดคงค้างสินเชื่อด้อยคุณภาพ (non-performing loan: NPL หรือ stage 3) ไตรมาส 2/2567 เพิ่มขึ้นเล็กน้อยมาอยู่ที่ 5.4 แสนล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน NPL ต่อสินเชื่อรวมที่ 2.84% โดยคุณภาพสินเชื่อด้อยลง จากสินเชื่ออุปโภคบริโภคเป็นหลัก โดยเฉพาะพอร์ตที่อยู่อาศัย เนื่องจากลูกหนี้ที่เคยได้รับความช่วยเหลือช่วงโควิด กลับมาเป็นหนี้เสีย รวมถึงลูกหนี้บางรายที่รายได้ยังไม่ฟื้นตัว เนื่องจากเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวไม่เท่าเทียม โดยรายได้กระจุกตัวในภาคบริการที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว 

กสทช.อนุมัติงบให้เอกชน 3 ราย ติดตั้งระบบแจ้งเตือนภัยฉุกเฉิน

กสทช.อนุมัติงบให้เอกชน

นพ.สรณ บุญใบชัยพฤกษ์ ประธานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติหรือ กสทช.เปิดเผยว่า ที่ประชุม กสทช. เมื่อวันที่ 14 ส.ค.2567 ได้อนุมัติกรอบวงเงิน การจัดทำระบบแจ้งเตือนภัยฉุกเฉินผ่านเครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ (Cell Broadcast) เฉพาะเงินสนับสนุนระบบ Cell Broadcast Center (CBC) Core Network Radio Network และค่าบำรุงรักษาระบบ (MA) ให้กับบริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ตเวอร์ค จำกัด ในเครือเอไอเอส, บริษัท ทรูมูฟ เอช ยูนิเวอร์แซล คอมมิวนิเคชั่น จำกัด และ บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) หรือ NT จำนวน 3 ปี รวมทั้งสิ้นจำนวน 1,030 ล้านบาท

อย่างไรก็ตาม ที่ประชุมได้ตั้งข้อสังเกตวงเงินที่ทาง NT ขอมาราว 200 ล้านบาทว่าอาจสูงเกินไปกับฐานลูกค้าที่มี จึงให้ไปทำตัวเลขมาใหม่ โดยวงเงินที่อนุมัติให้กับเอไอเอสและทรู แต่ละรายมีจำนวน 374 ล้านบาท เป็นการลดหย่อนจากเงินที่เอไอเอสและทรูจะต้องนำส่งเพื่อสมทบกองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมเพื่อประโยชน์สาธารณะ (กทปส.) ในแต่ละปี โดยให้ลดหย่อนได้ไม่เกินปีละ 200 ล้านบาท

นพ.สรณกล่าวอีกว่า การสนับสนุนให้เกิดระบบแจ้งเตือนภัยฉุกเฉินผ่านมือถือเป็นนโยบายเร่งด่วนในปีนี้ของ กสทช.เพื่อที่ระบบดังกล่าวจะเปิดให้บริการได้ภายในช่วงกลางปี 2568 โดยขณะนี้ผู้ให้บริการมือถือได้ทดสอบระบบเตรียมความพร้อมแล้ว ทั้งนี้ ระบบแจ้งเตือนภัยจะเชื่อมกับระบบสั่งการของรัฐบาล ที่จะเป็นผู้แจ้งเตือนภัยผ่านผู้ให้บริการมือถือ เป็นเทคโนโลยีมาตรฐานสากลที่ใช้แพร่หลายทั่วโลก

หุ้นเด้งแรง-บาทอ่อนรับนายก “อุ๊งอิ๊งค์”

หุ้นเด้งแรงบาทอ่อนรับนายก

ผู้สื่อข่าวรายงานความเคลื่อนไหวของตลาดหุ้นไทยวันที่ 16 ส.ค. 2567 ดัชนีหุ้นปรับตัวขึ้นตั้งแต่เปิดตลาด และปรับขึ้นได้ต่อเนื่องในระหว่างการโหวตเลือกนาวสาวแพทองธาร ชินวัตร เป็นนายก รัฐมนตรีคนใหม่ แทนนายเศรษฐา ทวีสิน ขณะหุ้นที่ถูกเกี่ยวข้องกับตระกูลชินวัตร โดยเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ อย่าง บมจ.บริษัท เอสซีแอสเสท คอร์ปอเรชั่น (SC) ปรับขึ้นแรง รวมทั้งหุ้น บมจ.โรงพยาบาลพระรามเก้า (PR9) ทั้งนี้ ดัชนีหุ้นไทยปรับตัวขึ้นทะลุ 1,300 จุด มาปิดตลาดที่ 1,303.00 จุด เพิ่มขึ้น +13.16% มูลค่าการซื้อขายรวม 35,657.72ล้านบาท

นายชาญชัย พันทาธนากิจ ผู้อำนวยการสายงานวิจัย บล.เมย์แบงก์ (ประเทศไทย) กล่าวว่า ตลาดหุ้นไทยมีภาพเป็นบวกเนื่องจากความคาดหวัง ประเด็นการเมืองที่ต้องมีนายกฯคนใหม่โดยเร็ว โดย น.ส.แพทองธาร ชินวัตร จากพรรคเพื่อไทย ได้ผ่านการเห็นชอบด้วยเสียงเกินครึ่ง ซึ่งการได้ผู้นำจากพรรคเพื่อไทยเข้ามาเป็นนายกรัฐมนตรีคนใหม่ ย่อมทำให้การสานต่อนโยบายเศรษฐกิจต่างๆเดินหน้าต่อได้อย่างรวดเร็ว

กลุ่มหุ้นที่น่าสนใจลงทุน 1.กลุ่มที่เกี่ยวกับการลงทุนภาครัฐได้แก่ กลุ่มรับเหมาก่อสร้างและวัสดุก่อสร้าง CK, SCCC และ TASCO เป็นต้น 2.หุ้นที่จะได้ประโยชน์จากกองทุนวายุภักษ์ ได้แก่ KTB, TTB, KBANK, CPALL และ AOT เป็นต้น ส่วนหุ้นที่เกี่ยวโยงกับการเมืองที่มีแรงเก็งกำไร เช่น SC และ PR9 ประเมินหุ้น PR9 มีความน่าสนใจในเชิงพื้นฐาน เนื่องจากผลประกอบการอยู่ในทิศทางที่ดี อีกทั้งไตรมาส 3 เป็นไฮซีซันของกลุ่มธุรกิจโรงพยาบาลค่าเงินบาทปิดตลาด วันที่ 16 ส.ค.ที่ 35.03 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ อ่อนค่าเล็กน้อยจากเปิดตลาดที่ระดับ 34.99/35.02 บาท โดยเงินบาทเคลื่อนไหวเกาะกลุ่มไปกับค่าเงินภูมิภาค โดยเคลื่อนไหวในกรอบ 34.98-36.15 บาท ขณะที่ช่วงบ่ายหลังรู้ผลนายกฯคนใหม่เป็นไปตามคาด ค่าเงินบาทค่อนข้างนิ่งใกล้เคียงกับ 35 บาทต่อดอลลาร์

ธอส. ช่วยลูกค้าสบายกระเป๋า ขยายเวลาผ่อนบ้าน-ลดเงินงวด

ธอส

ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) จัดทำมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้น ด้วยการขยายระยะเวลาให้ลูกค้าผ่อนชำระเงินงวดได้ไม่เกิน 80 ปี หรือ 85 ปี จากเดิมผ่อนชำระเงินงวดได้ไม่เกิน 70 ปี หรือ 75 ปี เพื่อช่วยลดภาระค่าครองชีพ และเพิ่มศักยภาพในการผ่อนชำระ สามารถยื่นคำร้องและทำนิติกรรมได้ถึง 30 ธ.ค.67

นายกมลภพ วีระพละ กรรมการผู้จัดการ ธอส. เปิดเผยว่า ธอส. ได้ดำเนินการตามนโยบายรัฐบาล และกระทรวงการคลัง ด้วยการจัดทำมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้น เพื่อช่วยลดภาระค่าครองชีพ และเพิ่มความสามารถในการจับจ่ายใช้สอยในชีวิตประจำวันให้กับลูกค้าปัจจุบันของธนาคาร โดยการขยายระยะเวลาการให้กู้สูงสุดไม่เกิน 10 ปี จากเดิมอายุผู้กู้รวมกับระยะเวลากู้ต้องไม่เกิน 70 ปี หรือ 75 ปี ขยายเป็นไม่เกิน 80 ปี หรือ 85 ปี แล้วแต่กรณี

ทั้งนี้ การขยายระยะเวลาการให้กู้ดังกล่าว จะทำให้เงินงวดในการผ่อนชำระรายเดือนของลูกค้าลดลง เพื่อช่วยเพิ่มศักยภาพในการผ่อนชำระเงินงวด และช่วยลูกค้าให้ยังคงสามารถรักษาบ้านของตนเองไว้ได้ต่อไป